วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมาของธุรกิจคาราโอเกะในเมืองไทย

ประวัติความเป็นมาของธุรกิจคาราโอเกะในเมืองไทย


คำว่า “Karaoke”มาจากภาษาญี่ปุ่น โดย “Kara” แปลว่า ว่างเปล่า และ “Oke” แปลว่า ออเคสต้า รวมกันเข้ามีความหมายถึง เทปที่มีแต่เสียงดนตรี ไม่มีเสียงขับร้อง โดยธุรกิจคาราโอเกะนั้นมีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นโดยแต่เดิมนั้นคาราโอเกะนิยมใช้ในหมู่บริษัทมิวสิคโปรดักชั่น เพื่อให้นักร้องในสังกัดใช้ร้องเพลง ในกรณีที่ต้องไปเปิดการแสดง จะได้ไม่ต้องหอบหิ้วเครื่องดนตรี รวมถึงนักดนตรี ให้ยุ่งยาก สิ้นเปลือง และเป็นธุรกิจเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลาย ปี ค.ศ. 1977 เป็นปีที่คาราโอเกะเริ่มฮิตติดตลาดญี่ปุ่น เพราะถูกกับอุปนิสัยชาวญี่ปุ่นที่ชอบร้องเพลงอยู่แล้ว และปีค.ศ. 1991 มีการสำรวจพบว่าในประเทศญี่ปุ่นมีร้านอาหารที่ติดตั้งคาราโอเกะจำนวนถึง 70,000 ร้าน มีคนร้องคาราโอเกะรวม 52 ล้านคน



ธุรกิจคาราโอเกะเข้าสู่ประเทศไทยโดยประมาณ พ.ศ. 2520 โดย เริ่มต้นที่ย่าน "ธนิยะ" สถานประกอบการกลางคืน โดยบนถนนธนิยะในอดีตจะเป็นศูนย์กลาง สำหรับนักธุรกิจนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ในยุคแรกรูปแบบของคาราโอเกะในประเทศไทยกลุ่มของลูกค้าเป็นคนกลางคืนเสียส่วนใหญ่และโดนมองในภาพลบเสียมากกว่า เพราะจะมีเหล้าสาเก , เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ รวมถึงมีผู้หญิงไว้คอยบริการ โดยรูปแบบของคาราโอเกะแรกๆ ที่นำมาใช้ เรียกกันว่า "ดนตรี แปดแทรค" คือจะมีเครื่องเล่น และม้วนเทปที่มีลักษณะคล้ายกับเทปเพลงทั่วไป แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าเทปธรรมดาสักหน่อย ลักษณะการใช้เช่นเดียวกับการเปิดเทปเพลงแต่แตกต่างกันที่เครื่องเล่นชนิดนี้จะไม่มีเสียงร้องมีเฉพาะเสียงดนตรีเพียงอย่างเดียว ลูกค้าที่มาเที่ยวจะร้องเพลง โดยมีเนื้อเพลงเขียนไว้ในกระดาษกางเอาไว้ ให้ดูและร้องตามไป



จากถนนธนิยะ คาราโอเกะก็เริ่มแพร่หลายกลายเป็นรูปแบบความบันเทิงใหม่ในยามราตรีทั่วกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ๆ ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นคลับชั้นสูง โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารหรือคาเฟ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งระดับสูง กลาง ต่ำ บวกกับกฎหมายที่รัฐบาลที่ออกมาในช่วงนั้นกำหนดให้สถานประกอบการสามารถใช้เครื่องดนตรีได้ไม่เกิน 2 ชิ้น ทำให้สถานประกอบการต่างๆเริ่มนิยมหันมาใช้คียบอร์ดและ Sequencer (ซีเควนเซอร์) แทนการเล่นเป็น full bandซึ่งมี source ที่ใช้จะเป็นระบบ MIDI (Music Instrument Digital Interface) คือเสียงเครื่องดนตรีสังเคราะห์ที่ทดแทนเสียงของเครื่องดนตรีทั้งวงได้ โดยได้รับปัจจัยผลักดันจากผู้ผลิตเครื่องSequencer และคีย์บอร์ด ที่พัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพของสินค้าออกมาสู่ตลาด



ราวปี พ.ศ. 2539 ธุรกิจคาราโอเกะได้เข้าสู่ผู้บริโภคระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวางตามร้านอาหารทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วไป โดยเกิดจากกลุ่มนักธุรกิจที่ทำอาชีพตู้คาราโอเกะ โดยผู้ลงทุนจะเป็นเจ้าของตู้คาราโอเกะและนำไปวางตามร้านอาหารแบ่งเปอร์เซ็นต์กับเจ้าของร้าน ทั้งนี้เจ้าของตู้จะได้รายได้ 70% และเจ้าของร้านจะได้ 30% โดยเจ้าของตู้จะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงและเพลงใหม่เพื่อให้บริการลูกค้า ในขณะที่เจ้าของร้านจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านค่าไฟฟ้าและการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเกิดผู้ประกอบการในธุรกิจนี้แพร่หลายมากขึ้นทำให้ร้านอาหารเกือบทุกร้านมีการให้บริการคาราโอเกะ รวมถึงราคาขายที่ผู้บริโภคระดับรากหญ้าสามารถรับได้คือราคา 5 บาทต่อ 1 เพลง ซึ่งทำให้รูปแบบของคาราโอเกะเปลี่ยนไปจากการที่ต้องเข้าไปในคลับระดับสูงหรือโรงแรมขนาดใหญ่ ผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถที่จะใช้บริการคาราโอเกะได้จากตู้คาราโอเกะ


เมื่อคาราโอเกะเริ่มได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลาย บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคของคนไทยที่มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ทั้งตามงานสังคมการสังสรรค์ต่างๆก็นิยมใช้กิจกรรมคาราโอเกะเพื่อความบันเทิง ทำให้มุมมองของคาราโอเกะที่เป็นธุรกิจในรูปแบบของคนกลางคืนนั้นลดน้อยลง ทั้งนี้ผู้ที่สร้างทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อคาราโอเกะในเมืองไทยใหม่อย่างชัดเจนและผลสะท้อนกลับมามากที่สุดได้แก่ บริษัทเมเจอร์ ซินิเพล็ก โดยเมเจอร์เริ่มธุรกิจเมเจอร์คาราโอเกะในยุคแรกที่สาขารัชโยธิน ซึ่งในช่วงแรกของการทำธุรกิจนั้นเมเจอร์ฯต้องคอยตอบคำถามเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเรื่องผู้หญิงบริการอย่างมากมาย แต่เมเจอร์ฯก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่คาราโอเกะโดยให้เป็นธุรกิจในตอนกลางวัน(Karaoke Clean)ด้วย โดยเจาะกลุ่มนักเรียน , นักศึกษา , ครอบครัว เป็นหลัก ทำให้ทัศนคติของคาราโอเกะเป็นไปในแง่บวกและบวกกับการสนับสนุนของ source จากค่ายเพลงต่างๆที่ผลิตแผ่นคาราโอเกะออกมามากขึ้นและเทคโนโลยีของอุปกรณ์เครื่องคาราโอเกะที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของคาราโอเกะเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยม ทำให้มีผู้ประกอบการที่เข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้นทั้ง SF Music City , Big Echo และร้านคาราโอเกะอื่นๆอีกมากมายที่เน้นคาราโอเกะเป็นหลักไม่มีผู้หญิงบริการเมื่อแต่ก่อน และเปิดให้บริการในเวลากลางวัน



ในปีพ.ศ. 2545 ประเทศเริ่มมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่และค่าทำซ้ำต่อสาธารณชน ตามเงื่อนไขของ WTO ที่ต้องดูแลและให้ความสำคัญต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการจัดเก็บเริ่มต้นในธุรกิจของคาราโอเกะเป็นลำดับแรก โดยมีบริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มหาชนเป็นบริษัทแรกที่ออกมาทำการจัดเก็บ และตามมาด้วยบริษัทอาร์เอส โปรชั่น จำกัด , บริษัทลิขสิทธิ์เพลง จำกัด และบริษัทอื่นๆอีกมากมายรวม15บริษัทที่ทำการจัดเก็บค่าเผยแพร่อย่างจริงจัง นอกเหนือจากบริษัทเทียก้า(TECA) ที่เป็นบริษัทดูแลลิขสิทธิ์ของเพลงสากล ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจคาราโอเกะเกิดต้นทุนและความสับสนในการใช้เพลงของบริษัทต่างๆเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ได้และไม่สามารถสู้ต้นทุนได้ปิดตัวลงไป เป็นช่วงที่ธุรกิจคาราโอเกะหยุดชะงักและมีการชะลอตัว จนกระทั่งในปี 2546 ที่ผู้ประกอบการเริ่มมีความเข้าใจในเรื่องของลิขสิทธิ์เละเลือกใช้เพลงของบริษัทต่างๆได้เป็นอย่างดีแล้วจึงดำเนินธุรกิจคาราโอเกะต่อไป แต่ทั้งนี้สำหรับตลาดล่างได้แก่ตู้คาราโอเกะนั้นยังคงได้รับผลกระทบสูงจากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ทำให้ธุรกิจคาราโอเกะของตลาดล่างค่อนข้างชะลอตัวและซบเซาสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ในขณะที่ตลาดบนหรือร้านคาราโอเกะทั่วไปยังสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากมีการให้บริการอื่นๆเสริมและเก็บค่าใช้เป็นการเช่าชั่วโมงห้อง


ไม่มีความคิดเห็น: