วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ลักษณะตลาดของธุรกิจลูกทุ่ง

ลักษณะของ ตลาดธุรกิจเพลงลูกทุ่งนั้นจะแบ่งช่วงเป็นช่วง High season และ Low season โดย High season จะเริ่มตั้งแต่หลังออกพรรษาคือเดือนพฤศจิกายนช่วงเข้าหน้าหนาวเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคอีสานจะทำการเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วทำให้มีกำลังซื้อและเวลาว่างในการหาความบันเทิงพักผ่อน และเป็นช่วงเทศกาลทั้งวันขึ้นปีใหม่ , วันสงกรานต์ เป็นต้น จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคมก่อนเปิดเทอม และหลังจากช่วงเปิดเทอมจะเป็นช่วง Low season
ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากตลาดของเพลงสตริงที่สามารถขายได้ตลอดทั้งปี แต่ทั้งนี้ถึงแม้ในช่วง Low season ทางค่ายลูกทุ่งส่วนใหญ่ก็จะออกอัลบั้มเพลงโปรโมทออกมาเพื่อจะให้ไปดังช่วง High season เพราะเพลงลูกทุ่งต้องใช้ช่วงเวลาในการโปรโมทโดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนถึงจะติดหูคนฟัง




Product Life Cycle ของธุรกิจเพลงลูกทุ่ง
ลักษณะวงจรชีวิตความโด่งดังของนักร้องลูกทุ่ง
ลักษณะวงจรชีวิตของนักร้องลูกทุ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากกราฟข้างต้น จะเห็นว่าแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ
1.ช่วงก่อนโด่งดัง(Introduction) : จะเห็นว่ากราฟช่วงนี้จะยาวมากกว่าช่วงอื่น เนื่องมาจากก่อนที่นักร้องหนึ่งคนจะสามารถออกอัลบั้มสักหนึ่งอัลบั้มนั้นต้องผ่านขบวนการต่างๆมากมายอาทิเช่นการคัดเลือกซึ่งทางบริษัทค่ายเทปจะทำการตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่เสียงร้อง , บุคลิกภาพ รวมถึงนิสัยใจคอว่าหากโด่งดังแล้วจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ซึ่งในขั้นตอนนี้เกือบทุกบริษัทจะใช้เวลามากกว่า 3 ปีขึ้นไป และหลังจากที่ออกอัลบั้มแล้วนักร้องลูกทุ่งอาจจะไม่ได้โด่งดังตั้งแต่ชุดแรกแต่สำหรับนักร้องลูกทุ่งแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในธุรกิจลูกทุ่งถือว่านักร้องลูกทุ่งนั้นมีโอกาสอยู่เสมอเพียงแค่ต้องจับทางให้ถูกเท่านั้นโดยทางบริษัทเพลงต้นสังกัดจะทำการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์วิธีการต่างๆเพื่อให้นักร้องคนนั้นโด่งดังซึ่งในบางครั้งกว่าที่นักร้องคนนั้นจะเป็นที่รู้จักอาจจะใช้เวลาถึงสิบๆปี เช่น อาภาพร นครสวรรค์ ที่มาโด่งดังจากอัลบั้มชุดที่ 9 ของเธอจากเพลงเลิกแล้วค่ะ
2.ช่วงโด่งดัง (Growth) : เมื่อนักร้องเริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดัง หากดูจากกราฟจะเห็นว่ากราฟขึ้นสูงอย่างรวดเร็วโดยนักร้องจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทยได้ทันที ซึ่งปัจจัยที่ทำให้โด่งดังอาจมาจากเพลงที่โดนใจผู้ฟังเพลง , บุคลิกภาพของนักร้อง หรือ นิสัยใจคอของนักร้อง เป็นต้น
3.ช่วงติดลมบน(Maturity) : สำหรับนักร้องลูกทุ่งนั้นเมื่อเป็นโด่งดังเป็นที่ชื่นชอบแล้วจะสามารถขายได้ตลอดไป เช่น พรศักดิ์ ส่องแสง ที่เคยโด่งดังมากในอดีตและร้างลาวงการเพลงไปเกือน 10 ปีแต่เมื่อกลับมาทำอัลบั้มใหม่อีกครั้งก็ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงเหมือนเดิม สาเหตุสำคัญที่นักร้องลูกทุ่งที่ติดลมบนแล้วสามารถขายได้เสมอนั้นมาจากพฤติกรรมผู้บริโภค(Customer Nature) ของผู้ฟังเพลงลูกทุ่ง โดยลักษณะพฤติกรรมของผู้ฟัง บริโภคกลุ่มนี้คือ
1.Customer Loyalty ความจงรักภักดีต่อตัวสินค้า : โดยหากผู้ฟังกลุ่มนี้ชื่นชอบนักร้องลูกทุ่ง ไม่ได้หมายความเพียงแต่เป็นการชื่นชอบชื่นชมเพียงอย่างเดียว ยังมีความหมายถึงความรักใคร่ชอบพอเสมือนหนึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน มีความเอ็นดูความผูกพันใส่ลงไปอีกด้วย จึงทำให้การบริโภคไม่ใช่แค่เพียงความชอบในเพลงอัลบั้มนั้นๆหรือหน้าตาของนักร้องเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแต่ยังหมายความรวมไปถึงความต้องการให้การสนับสนุน ,ความผูกพัน ฯลฯ อีกด้วย ทำให้นักร้องลูกทุ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคนั้นสามารถขายผลงานของตนเองได้เรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นเช่นนี้แล้ว หากนักร้องคนใดสามารถที่สามารถจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ก็สามารถขายผลงานเพลงของตนเองได้ตลอดไป ไม่เพียงแต่นักร้องลูกทุ่งเท่านั้นยังรวมถึงนักร้องสตริงที่หันมาร้องลูกทุ่งด้วยเช่นเดียวกัน
2.ลักษณะนิสัยเฉพาะของคนไทย (โดยเฉพาะคนไทยในต่างจังหวัด) : คนไทยในต่างจังหวัดมีอุปนิสัยที่ชื่นชมคนมีความกตัญญูกตเวที , ซื่อสัตย์ , อ่อนน้อมถ่อมตน และ ใฝ่หาความรู้ เป็นต้น หากนักร้องลูกทุ่งมีอุปนิสัยตรงกับความชื่นชอบของพวกเขาก็เสมือนเป็นพรรคพวกเดียวกัน ก็จะได้รับการตอบรับสนับสนุนอย่างดีจากกลุ่มผู้ฟังกลุ่มนี้ ซึ่งเมื่อทราบถึงลักษณะนิสัยเฉพาะตรงนี้แล้ว ทำให้นักร้องลูกทุ่งต้องรักษาภาพลักษณ์ไว้ให้ดีที่สุด
หากมีข่าวที่ไม่ดี หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมาเช่น ไม่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ , ขโมยของ , ย้ายค่ายโดยไม่มีสาเหตุที่ดี ฯลฯ ก็จะหมดความนิยมทันที
3.Attitude ปัจจุบันทัศนคติของคนฟังเพลง ยอมรับในเพลงลูกทุ่งมากขึ้น ไม่มองเป็นเรื่องที่เชยอีก
ต่อไป แต่ก่อนนั้นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพจะไม่กล้าที่จะฟังเพลงลูกทุ่งต่อสาธารณชนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอาย แต่ปัจจุบันเพลงลูกทุ่งได้รับการยอมรับในกลุ่มคนฟังกรุงเทพมากขึ้น โดยมองว่าเพลงลูกทุ่งมีความเป็นเพลงสนุกสนาน ทำให้คนต่างจังหวัดหรือคนกรุงเทพเองหันมาฟังเพลงลูกทุ่งกันอย่างเปิดเผย ตรงจุดนี้หากผู้ผลิตสามารถจับทิศทางของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้ โดยเปลี่ยนเนื้อหาสาระให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น ปัจจุบันมีเพลงที่เกี่ยวกับมือถือ หรือเทคโนโลยีอื่นๆมากขึ้น ก็จะสามารถครองใจตลาดกลุ่มนี้ได้กว้างขึ้นและยาวนาน

หากเปรียบเทียบกับนักร้องเพลงสตริง ลักษณะของ Product Life cycle จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
ลักษณะวงจรชีวิตความโด่งดังของนักร้องสตริง
วงจรชีวิตของนักร้องสตริงนั้นหากพิจารณาเป็นช่วงจะแตกต่างจากนักร้องลูกทุ่งดังนี้
1.ช่วงก่อนโด่งดัง(Introduction) : สำหรับนักร้องสตริงช่วงการทำเพลงหรือโด่งดังจะสั้นมาก โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งหากโด่งดังจะเข้าสู่ช่วง growth ทันทีแต่หากไม่โด่งดังก็จะหมดโอกาสต่อไปทันที โดยส่วนใหญ่ทางค่ายจะไม่สนับสนุนต่อซึ่งอาจหมายถึงต้องจบชีวิตการเป็นนักร้องไปเลย
2.ช่วงโด่งดัง (Growth) : หากนักร้องสตริงเข้าสู่ช่วงโด่งดังจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากแรงโปรโมททางสื่อซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาประมาณ 6 - 12 เดือนหรือตามระยะที่เทปวางแผงขาย
3.ช่วงติดลมบน(Maturity) : นักร้องสตริงโดยส่วนใหญ่จะมีช่วงติดลมบนน้อยมากอาจเพียงแค่ระยะเวลาที่อัลบั้มชุดนั้นเป็นที่นิยม เพราะบางครั้งเมื่ออัลบั้มชุดที่สองออกมาอาจจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนชุดแรก หรือแค่ 2-3 อัลบั้มแล้วหายไป
4.ช่วงหมดความนิยม (Aging) : เมื่อหมดช่วงวางแผงอัลบั้มความนิยมของนักร้องสตริงจะลดน้อยลง โดยจะมีนักร้องสตริงคนอื่นขึ้นมาได้รับความนิยมแทนเพราะการแข่งขันในตลาดสูง

ไม่มีความคิดเห็น: