วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การวิเคราะห์สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมคาราโอเกะ (Five Forces Model)


1. อุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (Threat of New Entry) - กลาง
แนวโน้มคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจโปรแกรมคาราโอเกะในอนาคต อาจเป็นการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศหรือจดลิขสิทธิ์ของเทคโนโลยี แต่สำหรับคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาดปัจจุบันพบว่ายังไม่ได้สร้างความแตกต่างเท่าใดนัก ซึ่งรูปแบบส่วนใหญ่ก็คือการร้องคาราโอเกะ อย่างไรก็ตามคู่แข่งรายใหม่ที่มีความน่ากลัวในการแข่งขันคือผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเพราะเพลงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการหรือสถานประกอบการที่ต้องการใช้เพลงของเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้นๆ และสามารถสร้างอำนาจในการแข่งขันจากการเป็นพันธมิตรทางการค้าร่วมกับธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นเพื่อเก็บส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการในตลาดกลุ่มอื่นๆ ต้องออกไปจากอุตสาหกรรมในที่สุด

2. การแข่งขันระหว่างคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด (Rivalry between Existing Competitors) - ต่ำ
สถานการณ์ของการแข่งขันในอุตสาหกรรมธุรกิจโปรแกรมคาราโอเกะมีการแข่งขันที่ไม่สูงมากนักเพราะแต่ละโปรแกรมต่างมีความสามารถเฉพาะของตัวเอง ซึ่งรูปแบบการใช้งานต่างๆ ก็มีการพัฒนาปรับปรุงตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายอีกครั้งหนึ่ง สำหรับในเรื่องของราคานั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวโปรแกรมว่ามีความโดดเด่นและมีศักยภาพในการใช้งานมากน้อยเพียงใด

3. การสามารถถูกทดแทนโดยสินค้าชนิดอื่นได้ (Substitute Product) - ต่ำ
สินค้าที่จะเข้ามาทดแทนธุรกิจคาราโอเกะโดยตรง ณ ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีแต่อย่างใด แต่สินค้าทดแทนคือตัวโปรแกรมอื่นๆ

4. การมีอิทธิพลของผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ (Bargaining Power of Suppliers) - สูง
ในด้านผู้ขายวัตถุดิบหรือแรงงาน บริษัทจะมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบค่อนข้างสูง เนื่องจากวัตถุดิบหลักคือตัวโปรแกรมซึ่งทางบริษัทเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าจะต้องสั่งซื้ออุปกรณ์บางอย่างจากผู้จัดจำหน่าย อาทิเช่น OS window แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดเนื่องจากราคาจำหน่ายในท้องตลาดไม่มีความแตกต่างกันมากนัก

5. อิทธิพลของผู้ซื้อหรือลูกค้า (Bargaining Power of Buyers) - สูง
อำนาจการต่อรองของลูกค้ามีสูง เนื่องจากลูกค้ามีหลายทางเลือกที่จะซื้อโปรแกรมคาราโอเกะจากผู้ผลิตโปรแกรมในตลาด อย่างไรก็ตามลูกค้าในแต่ละกลุ่มก็มีศักยภาพในการซื้อไม่เท่าเทียมกันรวมถึงความต้องการในการใช้ระบบของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองลูกค้าของตน ซึ่งลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงก็จะเลือกใช้บริการจากสถานประกอบการที่มีชื่อเสียงมีระบบคาราโอเกะที่ตอบสนองความต้องการ หรือซื้อเครื่องเล่นคาราโอเกะเป็นของส่วนตัว ในขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยก็จะเลือกใช้บริการจากตู้คาราโอเกะตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนั้นปัจจัยด้านอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเช่น ราคา การบริการของพนักงาน หรือแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: